Tika & Narz meet the giant tree
“ ความสุขอยู่ที่ใด หรือ ความสุขอยู่ที่ใจ.”
Camping just Two of Us in Uthai Thani, Thailand.
ทริปแค้มปิ้งแรกแค่เราสองคน ที่จังหวัดอุทัยธานี

เชื่อว่าทุกคนต่างเดินทางตามหาความสุขในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทำให้เริ่มคิดว่า ทำไมเราต้องออกตามหาสิ่งนั้นกัน จริงๆ แล้ว ความสุขมันยังอยู่กับเราแต่เราอาจจะมองไม่เห็น หรือว่ามันหายไปอยู่ที่ไหนกันแน่? 

สำหรับเราสองคน การออกเดินทาง เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะพาเราไปเจอสิ่งที่เราตามหา มันอาจจะอยู่กับเราก็ได้นะ แต่การออกไปค้นหา  ก็เป็นอีกวิธีสำหรับคนขี้ลืม ลืมไปว่าใจเราอยู่ที่ไหน หลายคนอาจชอบท่องเที่ยวไปในหลายๆที่ อยากเห็นสิ่งต่างๆมากมาย และเริ่งรีบเพื่อเก็บเกี่ยวความสุข หรืออาจจะเป็นเพราะการกำหนดโอกาสและเวลาที่เอื้ออำนวยต่างกัน แต่มันก็เป็นแค่แนวทางการตามหาความสุขของแต่ละคนจริงๆ โชคดีที่เราสองคน เลือกที่จะดื่มด่ำกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรานาน ๆ จนสาแก่ใจ จนหมดคำถาม จนใจพองฟูเต็มที่ แล้วเราก็จะเดินทางต่อไป เพียงเท่านี้ ก็ถือได้ว่าเราเจอคำตอบแล้ว และเราก็จะไม่เสียใจภายหลังกับการเดินทางเนิบช้าของเราเลย เพราะเราได้สัมผัสและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติในแบบที่เราต้องการ เราเรียกมันว่า “ความค่อย ๆ สุข” 

ปี 2566 เป็นปีที่ถือว่า โลกกลับมาเปิดให้มนุษย์ได้ใช้ชีวิตอีกครั้ง หลังจากที่พวกเราต่างสะพรึงกับภัยจากโรคระบาดมา 2-3 ปีเต็ม ๆ เชื่อว่ามุมมองในการใช้ชีวิตของพวกเราเปลี่ยนไปกันเยอะมากๆ รวมถึงตัวเราสองคนด้วย 

เราเริ่มมองหารูปแบบการเดินทาง ที่จะพาเราไปใกล้ชิดธรรมชาติได้มากที่สุด การได้สัมผัสอากาศดีๆ และเจอผู้คนน้อย ๆ และใช้เวลาอยู่กับที่ๆเรารู้สึกปลอดภัย ไม่เร่งรีบ ไม่กดดัน และ ค่อยๆ สุขในแบบของเราไปเรื่อยๆ เราจึงเลือกการออกเดินทางแบบ camping ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมมากทั่วโลก ฉันเริ่มตั้งถามตัวเองว่า ฉันได้เคยแค้มปิ้งครั้งแรกเมื่อไหร่กันนะ นั่งนึกไปนึกมา ว่าทำไมถึงชอบแค้มปิ้ง ก็ได้คำตอบว่า ตั้งแต่เด็ก ๆ น่าจะอายุได้ไม่เกิน 10 ปี คุณพ่อพาครอบครัวของเราไปเกาะร้างแถวจังหวัดตราด โดยการล่องเรือไป และขึ้นเกาะที่ไม่รู้ว่าเกาะอะไร ไม่รู้ของใคร ( จริง ๆ พ่อคงรู้แล้วแหละ เพราะพ่อทำหน้าที่เหมือนกับตัน และ เป็นหัวหน้าทริปอยู่แล้ว ) แล้วเราก็ขึ้นเกาะไปกางเต้นท์กัน พ่อจะเริ่มให้คนงาน 2-3 คนไปหาแหล่งน้ำสะอาดในธรรมชาติ เอาไว้อาบ หรือใช้ ส่วนพ่อก็ทิ้งพวกเราไว้บนเกาะ และออกเรือไปหาปลากลับมาเป็นอาหารให้พวกเรา ภาพความประทับใจ  น้อยๆ นี้ค่อยๆ ผุดขึ้นมาพร้อมความรู้สึกดีๆ ฉันเริ่มจำความสนุก ตื่นเต้นนั้น และความทรงจำแนวผจญภัยในวัยเด็กของฉัน ก็ได้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้ง 

Camping Therapy เป็นสิ่งที่ฉันคิดได้จากทริปที่ 2 ที่เราไปจังหวัดเพชรบุรี ( EP. 3 ) สิ่งที่ฉันได้มองเห็นจากการรูปแบบของการเดินทางแบบแค้มปิ้ง มันทำให้เราได้บำบัดตัวเอง และ คู่ของเราด้วย

แค้มปิ้งมันเป็นเรื่องของการลงมือทำจริง มันน่าจะเหมาะกับคนขยัน และมีแรงเยอะ เหมือนมนุษย์โบราณ แล้วข้อดีของมันก็มีหลายอย่างมากเลยนะ เราได้แบ่งหน้าที่กัน ช่วยเหลือกัน และ รับผิดชอบในส่ิงที่ตัวเองถนัด การเริ่มคิดถึงความเป็นอยู่ที่มองเห็นความจริงมากขึ้น เลือกสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตของมนุษย์จริง ๆ เราเริ่มตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปทีละทริป และยังรวมไปถึงเรื่องการบริหารจัดการเวลาด้วย สำหรับเรามันเป็นวิถีชีวิตที่ดีมาก ๆ ในการบำบัด ปัดเป่า ฟื้นฟูจิตใจ และ ตัดความสับสนวุ่นวายต่าง ๆ ออกไปจากชีวิต ให้เหลือเพียงแก่นแท้ที่เราต้องการจริง ๆ เท่านั้น

ทริปนี้เป็นทริปที่ประทับใจมากๆ เราได้อยู่กับธรรมชาติแบบจริงจัง และ จุใจมาก มีวิวแค่ล้านกว่าบาทที่มีความธรรมดา แต่มีความหมาย และ เรื่องราวเกิน 100 ล้านความรู้สึก และมันมีคุณค่ามากพอ ที่จะยื้อพวกเราให้อยู่ต่อนานถึง 6 วัน ช่วงที่เราไป คือวันที่ 2-9 มกราคม 2566 ทุกเช้าอากาศจะหนาวมาก อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 14-18 องศา เป็นช่วงอุณหภูมิที่หายากสำหรับประเทศไทยตอนกลางเพราะ ในหนึ่งปีก็จะมีแค่ช่วงเดียวเท่านั้น การได้ออกไปนั่งอ่านหนังสือตอนที่แสงแดดอุ่น ๆ ส่องมาที่ตัวเรา เป็นความรู้สึกที่มีค่าสำหรับฉันมาก ๆ และ อาจจะหาไม่ได้ถ้าอยู่บ้านตัวเอง นี่เป็นรางวัลของฉันในทุก ๆ เช้า ส่วนตอนกลางวันที่นี่ แม้อุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 25-29องศา แต่ลมที่พัดเย็นสบายตลอดทั้งวัน และ การอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ทำให้เราสองคนหลงรักจนไม่อยากจากไปไหนเลย 

หลายคนที่เราเจอที่ลาน จะมากันเพียงวันสองวัน ส่วนใหญ่เค้าก็ไปต่อที่นั่นที่นี่ หรือกางเต้นท์ทิ้งไว้แล้วออกไปเที่ยวที่ที่น่าสนใจในระแวกนั้น แต่เรากลับเลือกที่จะนั่งอ่านหนังสือ ถ่ายรูป กินๆ นอนๆ ฟังเพลงในที่ที่เดียวกันจนครบ 6 วัน ฉันไม่มีอะไรจะบอกมากไปกว่า การได้เสพความสุขในแบบเนิบช้าของเรา มันอาจเป็นวิถีที่สวนทางกับคนอื่นๆ ก็เท่านั้นเอง แต่มันก็ทำให้เราก็ได้เจอความค่อยๆ สุขที่นี่จริงๆ

“ ที่ผืนนี้แลกมาด้วยน้ำตา”

สิ่งที่เราได้จากการไปแค้มปิ้งรอบนี้ มันมีอะไรน่าจดจำบ้าง

  1. ได้เห็นผู้คนหลากหลาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ วัยรุ่น คู่รัก นักธุรกิจ เจ้าของกิจการ พนักงานโรงงาน น้องหมามารยาทดี ไปจนถึงลุงป้าที่เกษียรแล้ว
  2. น้ำเย็นในอากาศเย็นมันไม่ได้เย็นอย่างที่คิด ( อาจเป็นเฉพาะที่นี่นะ )
  3. กิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเรา กิน นอน อ่านหนังสือ ฟังเพลง ถ่ายรูป
  4. บริการจากหมอนวดใต้ร่มไม้ คือดีมาก ( ไม่ดีรูปเลย )
  5. อาหารที่เตรียมไปพอดี และ ขาดนิด ๆ ทำให้เรามีพื้นที่ในการเพิ่มเติมได้
  6. การลดจำนวนข้าวของที่ขนไป จะทำให้เราเหนื่อยน้อยลง บางสิ่งใช้ทดแทนกันได้
  7. เจ้าของลานและครอบครัวน่ารักมาก เค้าเลือกที่จะช่วยต้นยางนาที่อายุเป็นร้อยปี ให้มีชีวิตต่อไป
  8. ต้นไม้ที่มีรอยขีดสีแดง คือต้นไม้ที่ถูกเลือกในการประหารชีวิต
  9. การตั้งเต้นท์นานเกินไป อาจทำให้หญ้าตายได้
  10. ไม่มีใครกางเต้นท์เกิน 3 วัน ยกเว้นเรา
  11. เรื่องเล่าของลานกางเต้นท์ยางนา แคมป์ อุทัยธานี

วันสุดท้ายเป็นวันที่เราจะได้ทำความรู้จักจังหวัดอุทัยธานีให้มากขึ้นอีกนิดก่อนกลับกรุงเทพ เราหมายใจไปเจอกับต้นไม้ยักษ์ ที่มีอายุกว่า 300 ปี ความชื่นใจ และ ตื่นเต้นที่ได้เห็นชีวิตหนึ่งที่ยาวนานและน่าทึ่งมาก ๆ ฉันได้กอดและสัมผัสความเย็นจากต้นเซียงยักษ์นี้ พลังของต้นไม้ทวดนี้ได้ส่งผ่านมาที่เรา คือความมหัศจรรย์ในการดำรงค์อยู่ของชีวิตชีวิตหนึ่ง ซึ่งมันบอกกับเราว่าไม่ใช่แค่ตัวต้นไม้ยักษ์ที่ยังคงความสง่างาม แต่มันเป็นการแบ่งปันความอุดมสมบูรณ์ และ การคงอยู่ในที่สวยงามของแวดล้อมนี้ มันทำให้เราชุมชื่นหัวใจขึ้นมาจริง ๆ เพราะเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้ที่ต้องอยู่ร่วมในแวดล้อมของการแบ่งปันให้กันและกัน ความเป็นอยู่ของชีวิตมันจึงจะสวยงาม

a hug to giant tree

และที่ที่ 2 คือฝายกั้นน้ำปางสวรรค์ ตอนที่เราขับรถมาถึงเราแทบมองไม่เห็นอะไรที่จะมีลักษณะเหมือนฝาย หรือ เขื่อนหรืออะไรเลย แต่เราก็เดิน ๆ สำรวจดู ถึงได้เจอทางลงไปเป็นบันไดเหล็ก ที่เดินตามลงไปเรื่อย ๆ ถึงได้เจอกับความอัศจรรย์แบบ ธรรมดาๆ แต่มันสวยงามในแบบของมัน เราเดินท่องไปในน้ำเย็นฉ่ำอย่างระมัดระวัง เพื่อเก็บภาพความทรงจำว่า ครั้งหนี่งเราเคยมาที่นี่ และเราก็ไม่ผิดหวังเลยกับการมาครั้งนี้

ที่เกือบสุดท้ายที่เราเลือกไปทำความรู้จักคือ หุบป่าตาด ได้ยินมาว่ามันเป็นเหมือนป่าดึกดำบรรพ์ ฟังดูน่าสนใจ พอไปถึงก็จะได้ฟังเรื่องราวของหุบเขานี้ก่อนที่จะมาเป็นถ้ำและการค้นพบจากพระองค์หนี่ง เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว การถูกค้นพบสิ่งต่างๆ มากมายที่ได้พิสูจน์ภายหลังว่า สิ่งที่ได้เจอ ไม่ว่าจะเป็นต้นตาด หิน หรือ สัตว์ต่าง ๆ น่าจะมีมานานเป็นพัน ๆ ปี ฟังดูแล้วก็ยิ่งอยากรู้ให้มากขึ้นอีก  และยังมีการค้นพบภาพวาดในถ้ำเขาปลาร้า แต่เราไม่ได้ไป เพราะต้องจัดเวลาในการเข้าไปดู และ ต้องเดินขึ้นเขาไปอีก 3 ชั่วโมง เอาเป็นว่าหากได้มาเยี่ยมเยียน อุทัยธานี อีกครั้งคงจะไม่พลาดการขึ้นไปดูภาพวาดในยุคดึกดำบรรพ์แน่นอน เรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมานี้ได้รับข้อมูลจาก มัคคุเทศน์น้อย น้อนเพลง ที่เป็นไกด์นำเราเข้าชมหุบป่าตาดแห่งนี้

และที่สุดท้ายก่อนกลับ คือถนนที่ชึ้นชื่อว่าสวยงามดั่งสวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย มันเป็นถนนที่เราไปหุบป่าตาดพอดี เราเลยตัดสินใจแวะเพื่อเก็บภาพมุมสูง เป็นอันจบทริปแค้มปิ้งของเราสองคน ก็เดินทางกลับกรุงเทพ กับคำตอบของความสุขที่ได้ตามหา มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามันอิ่มอกอิ่มใจจริงๆ และ มันเป็นความค่อย ๆ สุขของเราอย่างจริงแท้แน่นอน ถ้าอย่างนั้นเราคงต้องนำมาเป็นรูปแบบของการดำเนินชีวิตของเราได้

ไม่ว่าเราจะมีคำตอบของการตามหาความสุขแบบไหน เราก็อย่าไปยึดกับมันมาก อะไรสุขเราก็เก็บไว้ อะไรทุกข์เราก็ปล่อยมันไป เพราะว่ายังไงก็ดี ไม่มีอะไรยั่งยืน ทุกอย่างก็แค่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หากมันยังอยู่เราก็รับรู้และรักษามันไว้ให้นานเท่านาน หากมันหายไป เราก็ออกไปตามหามันใหม่ก็พอ แต่ที่แน่ ๆ คือ ธรรมชาติไม่เคยหายจากเราไป มีแต่พวกเราที่พยายามเอามันออกไปจากชีวิตเรา

จนกว่าจะพบกันใหม่

TIKIPEDIA

Write a comment